เทคนิคการดูแลเด็กกินยาก
หลายบ้านมีลูกไม่ยอมกินข้าว กินช้า เคี้ยวช้า บ้วนทิ้ง ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกยอมกินข้าว ทั้งเคี่ยวเข็ญ คะยั้นคะยอ อ้อนวอน ดุ ขู่ บังคับ เดินตามป้อน หรือเปิดแท็บเล็ตให้ดูระหว่างกินข้าว ทำให้ผู้ปกครองรู้สึกหัวเสียแทบทุกมื้ออาหารเลยทีเดียว
หากเกิดปัญหาขึ้นบ่อยๆอาจทำให้เกิดผลเสียตามมา เช่น เด็กเกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อการกินข้าวหรืออาหารบางชนิด เช่น ผัก ผลไม้ ติดนิสัยที่ไม่ดี เช่น ต้องดูแท็บเล็ตทุกครั้งที่รับประทานอาหาร หรืออาจมีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ปกครองไม่ดีนัก
การปฏิเสธอาหารเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเด็กวัย 1-3 ปี เนื่องจากวัยนี้เป็นวัยที่กำลังพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง เริ่มต่อต้านผู้ใหญ่ สนใจเรียนรู้สิ่งแวดล้อมมากกว่าเรื่องการกิน (ห่วงเล่นมากกว่าห่วงกิน) และอัตราการเจริญเติบโดลดลงจากขวบปีแรก
หากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจพัฒนาการของเด็ก เรียนรู้ว่าเด็กแต่ละคนมีความต้องการและความชอบอาหารแต่ละอย่างไม่เท่ากัน แม้ในเด็กคนเดียวกันช่วงเวลาที่แตกต่างกันก็มีผลต่อความอยากอาหารที่ต่างกัน พ่อแม่ไม่ควรนำลูกของตัวเองไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น ไม่ควรกังวลกับคำพูดของญาติพี่น้องจนเกินไป มีเทคนิคในการดูแลที่ถูกต้องก็จะช่วยลดปัญหาได้มากทีเดียว
คำแนะนำในการดูแลเด็กกินยาก
1. ในเด็กอายุ 2 ขวบควรจะมีพัฒนาการในการตักอาหารกินเองโดยไม่หก
2. ผู้ปกครองควรปล่อยการรับประทานอาหารเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของเด็ก ไม่ต้องคะยั้นคะยอ เคี่ยวเข็ญ อ้อนวอนหรือบีบบังคับให้ลูกรับประทานอาหาร
3. พ่อแม่มีหน้าที่เตรียมอาหารให้เด็กกินเป็นเวลา อาหารควรมีสีสัน แปลกใหม่ น่ารับประทาน มีอาหารที่เด็กชอบรวมอยู่ด้วย
4. เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการจัดเตรียมอาหาร เช่น ให้ตักข้าวใส่จานของตัวเอง โดยเริ่มจากปริมาณน้อยๆก่อน
หากกินหมดแล้วค่อยเติมเพิ่ม
5. ให้เด็กนั่งร่วมโต๊ะรับประทานอาหารพร้อมผู้ใหญ่ในบ้าน กำหนดเวลาที่ใช้ในการการรับประทานอาหาร เช่น 30-
45 นาที เมื่อหมดเวลาก็เก็บอาหารออกจากโต๊ะ
6. บรรยากาศการกินควรจะสงบไม่มีสิ่งดึงดูดใจ เช่น ไม่เปิดทีวี แท็บเล็ต หรือให้เด็กเล่นของเล่นในระหว่างที่กินข้าว
7. ทำให้เกิดความสบายใจในการกิน ไม่ควรทำให้บรรยากาศตึงเครียดหรือกดดัน เช่น ต่อว่า บังคับ ขู่เข็ญเด็กให้กินให้
หมดจาน หากเด็กไม่ยอมกินอาหารหรือกินได้น้อยไม่ต้องลงโทษหรือตักเตือนใดๆ เมื่อครบเวลาแล้วให้เก็บอาหารออกจากโต๊ะ
บอกเด็กเพียงว่าหมดเวลาอาหารแล้ว โดยที่ระหว่างมื้อนั้นไม่ให้กินอะไรเลยแม้แต่ขนม นม น้ำหวาน ผลไม้ ให้ได้เพียงน้ำเปล่า
ให้รอเวลาจนกว่าจะถึงมื้อถัดไป ในเด็กทั่วไปร่างกายจะปรับตัวและสามารถกินได้ดีในมื้อถัดไป
หากคุณพ่อคุณแม่ใช้ความอดทน จริงจัง ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ อาจใช้เวลาเพียงไม่กี่วันก็จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ค่ะ